[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

ชุทซ์ชตัฟเฟิล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชุทซ์ชตัฟเฟิล
Schutzstaffel
ธงองค์การ

ฮิตเลอร์ตรวจแถวกองพลยานเกราะเอ็สเอ็สที่ 1
ครั้นเยือนเมืองคลาเกินฟวร์ท เมษายน ค.ศ. 1938
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง4 เมษายน ค.ศ. 1925
หน่วยงานก่อนหน้า
ยุบเลิก8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945
ประเภทกำลังกึ่งทหาร
เขตอำนาจ ไรช์เยอรมัน
ยุโรปที่ถูกเยอรมนียึดครอง
สำนักงานใหญ่ถนนพรินซ์อัลเบร็คช์ กรุงเบอร์ลิน
52°30′26″N 13°22′57″E / 52.50722°N 13.38250°E / 52.50722; 13.38250
บุคลากร1,250,000 (c. กุมภาพันธ์ 1945)
รัฐมนตรี
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
ต้นสังกัดหน่วยงานพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน
ลูกสังกัด

องค์การชุทซ์ชตัฟเฟิล (เยอรมัน: Die Schutzstaffel) หรือ เอ็สเอ็ส (SS, "ᛋᛋ" ที่เป็นอักษรรูน) เป็นองค์การกำลังกึ่งทหารสังกัดพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน (พรรคนาซี) ภายใต้คำสั่งของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เดิมใช้ชื่อว่า ซาล-ซุทซ์ (Saal-Schutz) ซึ่งมีสมาชิกเป็นอาสาสมัครของพรรคนาซีเพื่อคุ้มกันและดูแลความปลอดภัยในการประชุมพรรคที่เมืองมิวนิก เมื่อไฮน์ริช ฮิมเลอร์เข้าร่วมองค์กรในปีค.ศ. 1925 ก็มีการเปลี่ยนชื่อองค์การเป็น "ชุทซ์ชตัฟเฟิล" เอ็สเอ็สภายใต้การนำของฮิมเลอร์ได้ขยายตัวจากมีสมาชิกสองร้อยคนกลายเป็นองค์การขนาดมหึมาที่มีสมาชิกกว่าล้านคนและกลายเป็นหนึ่งในสถาบันที่มีอิทธิพลที่สุดในเยอรมนี หน้าที่ขององค์กรนี้คือสอดส่องดูแลความมั่นคงภายในประเทศและดินแดนในยึดครองของไรช์

องค์การเอ็สเอ็สแบ่งเป็นเป็นสองหน่วยหลักคือ อัลล์เกอไมเนอเอ็สเอ็ส (เอ็สเอ็สสามัญ) รับผิดชอบด้านอำนวยการและการบังคับใช้นโยบายของพรรคนาซี และ วัฟเฟิน-เอ็สเอ็ส (เอ็สเอ็สอาวุธ) เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ขึ้นกับกองทัพ นอกจากนี้ยังมีหน่วยอื่นอาทิ เอ็สเอ็ส-ธงหัวกะโหลก รับผิดชอบการดำเนินการค่ายมรณะและค่ายกักกัน นอกจากนี้ เอ็สเอ็สยังรับผิดชอบกิจการตำรวจทั้งหมดในประเทศ ในจำนวนนี้มีตำรวจลับที่เรียกว่า ตำรวจลับและทบวงอำนวยความปลอดภัย ซึ่งทำงานร่วมกันในการหาข่าวกรอง,สอดส่องป้องกัน และปราบปรามภัยคุกคามต่อรัฐบาลฮิตเลอร์

องค์การเอ็สเอ็สเป็นหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดมากที่สุดต่อการสังหารหมู่ชาวยิวและเหยื่ออื่นราว 5.5 ถึง 6 ล้านคนตลอดเหตุการณ์ฮอโลคอสต์[1] สมาชิกทุกหน่วยของเอ็สเอ็สถูกตั้งข้อหากระทำอาชญากรรมสงครามและกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ประวัติ

[แก้]

เอ็สเอ็สก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1925 ภายใต้ชื่อ "ซาล-ชุทซ์" (อารักษ์หอประชุม) เพื่อรักษาความปลอดภัยในการประชุมของพรรคนาซีตลอดจนเป็นหน่วยคุ้มกันส่วนบุคคลของฮิตเลอร์[2] ต่อมาในปีค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจพร้อมกับความเคลือบแคลงใจในความภักดีของกองทัพเยอรมันที่มีต่อเขา กองกำลังที่เขาไว้ใจได้อย่างเต็มร้อยและจะไม่มีวันทรยศเขาอย่างเอ็สเอ็สจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาฐานอำนาจของฮิตเลอร์ อย่างไรก็ตาม พรรคนาซียังมีองค์กรติดอาวุธอีกองค์กรหนึ่งที่ชื่อว่า ชตวร์มอัพไทลุง อันเป็นแหล่งสุมหัวของอดีตทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งนำโดยแอนสท์ เริม สหายเก่าแก่ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคนาซี

แอนสท์ เริม มีความคิดที่จะสถาปนาเอ็สเอเป็นขั้วอำนาจทางการเมืองใหม่และเข้าควบคุมไรชส์แวร์ และเริมยังสนับสนุนแนวคิด "การปฏิวัติครั้งที่สอง" ในเยอรมนี ความคิดเช่นนี้ของเริมให้ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กกดดันฮิตเลอร์ให้ยุบเอ็สเอ ฮิตเลอร์พยายามเจรจากับแอนสท์ เริม ให้ยุบหน่วยเอ็สเอโดยดีแต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ จึงนำไปสู่การกวาดล้างเอ็สเอในคืนมีดยาวในสิ้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1934 เมื่อแอนสท์ เริม ถูกกำจัด ฮิตเลอร์ก็แต่งตั้งให้เอ็สเอ็สของฮิมเลอร์ทำหน้าที่คุ้มกันแทนเอ็สเอ

การคัดเลือก

[แก้]

การคัดเลือกสมาชิกที่จะมาเข้าหน่วยเอ็สเอ็สจะต้องเป็นชายสายเลือดเยอรมันพันธุ์แท้แบบพวกอารยัน สูงอย่างน้อย 180 เซนติเมตร กำลังพลของเอ็สเอ็สจะได้รับการอบรม ปลูกฝังให้จงรักภักดีต่อผู้นำของเขาอย่างเหนียวแน่น และปราศจากการตั้งคำถามสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น ได้รับการฝึกฝนอย่างหนัก และถูกปลูกฝังอุดมการณ์ของนาซี ถูกปลูกฝังแนวความคิดเรื่องความเป็นเลิศของชนชาติอารยันเพื่อการสร้างชาติไปสู่ไรช์ที่สาม รวมทั้งมีการเกณฑ์เด็กชายและหญิงชาวเยอรมันทั้งหมดให้เข้าหน่วยยุวชนฮิตเลอร์เพื่อเป็นหลักสูตรวิชาทหาร ให้เข้ารับการเป็นทหารและหน่วยเอ็สเอ็ส

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Evans 2008, p. 318.
  2. Kogon, Eugen; Der SS-Staat; 1974

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]